จังหวัดสุพรรณบุรียังเป็นแหล่งรวมดนตรีปี่พาทย์มอญ โดยมีศิลปินที่เล่นดนตรีในลักษณะที่เป็นศิลปินสมัครเล่นที่เล่นเพื่อความสนุกสาน และลักษณะที่ยึดเป็นอาชีพ ทั้งที่เป็นศิลปินเดี่ยว เป็นครอบครัว ทั้งที่สังกัดคณะและไม่สังกัดคณะ โดยส่วนมากศิลปินกลุ่มนี้จะมีถิ่นฐานอยู่เป็นกลุ่มในเขตอำเภอเมืองฯ อำเภอบางปลาม้า อำเภอสามชุก อำเภออู่ทอง อำเภอศรีประจันต์ อำเภอด่านช้าง เป็นต้น คณรัตน์ บัวทอง (2550) ได้ค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นโดยเฉพาะอำเภอเมืองฯ พบว่ามีคณะปี่พาทย์มอญจำนวน 19 คณะ และคณะที่ได้รับการถ่ายทอดจากคณะณรงค์ศิลป์มีทั้งหมด 4 คณะได้แก่ คณะ บัวทอง คณะขจรโมพันธ์ คณะกำนันแสวง คณะสมควรบัวทอง และคณะต่าง ๆ ที่ได้รับการสืบทอดจากสายอื่น ๆ อีกจำนวน 15 คณะ ส่วนคณะวงปี่พาทย์มอญที่อยู่อำเภอต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 41 คณะ จึงนับจำนวนทั้งหมดคณะปี่พาทย์มอญในจังหวัดสุพรรณบุรีมีทั้งสิ้น 60 คณะ โดยมีรายนามคณะปี่พาทย์มอญเฉพาะในอำเภอเมืองฯ ดังไฟล์แนบด้านล่างการบรรเลงปี่พาทย์มอญสามารถหาชมได้ในงานพิธีศพ ซึ่งการใช้ปี่พาทย์มอญบรรเลงในพิธีศพเป็นความนิยมมาตั้งแต่อดีต ดังที่ได้มีการกล่าวบันทึกไว้ในหนังสือดนตรีในวิถีชีวิตคนไทยว่า "แต่เดิมปี่พาทย์มอญยังไม่เป็นที่ยม จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ปี่พาทย์มอญในพิธีพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชินี แต่ที่นิยมกันจริง ๆ เมื่อหลวงประดิษฐ์ไพเราะนำปี่พาทย์มอญมาประโคมทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยท่านได้ศึกษาเพลงมอญจาก ครูสุ่ม เจริญดนตรี และสอนให้ลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จากนั้นมาปี่พาทย์มอญก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ" (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ดนตรีในวิถีชีวิตคนไทย. (กรุงเทพฯ: 2545), หน้า15. |