จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ในเขตที่ราบภาคกลาง เป็นท้องทุ่งนาผืนใหญ่ที่มีการละเล่นพื้นบ้านเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวนา ทั้งเพลงระบำบ้านไร่ เพลงเหย่ย เพลงเพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงเรือ ฯลฯ ชาวสุพรรณบุรีเป็นนักเล่นเพลงพื้นบ้านตัวยง เมืองสุพรรณจึงมีเทศกาลเล่นเพลงประจำปี 2 ครั้ง คือ งานไหว้พระเดือนสิบสอง และงานไหว้พระเดือนห้า ณ วัดป่าเลไลยก์ เป็นที่ทราบกันในเหล่านักเล่นเพลงทั่วภาคกลางในสมัยอดีตว่างานไหว้พระเดือนสิบสองเป็นเวทีใหญ่สำหรับการประชันเพลงแห่งท้องทุ่ง เมื่อถึงวันงานนักเล่นเพลงจากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยพายเรือมาจอดที่ท่าน้ำหน้าวัดประตูสาร (จุดแรกของการประชันเพลง ประเดิมด้วยเพลงเรือ) กระทั่งดึกจึงขึ้นบกเดินเท้าไปวัดป่าเลไลยก์ ไหว้หลวงพ่อโต จากนั้นนักเล่นเพลงจะมาชุมนุมกันใต้ต้นโพธิ์ บริเวณลานวัดหน้าวิหาร และประชันเพลงกันจนถึงรุ่งสาง โดยมีเพลงที่นิยมเล่นกันในงานนี้คือ เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว และเพลงเรือ ซึ่งสุพรรณบุรีมีตำนานพ่อเพลง – แม่เพลง ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ แม่บัวผัน จันทร์ศรี และพ่อไสว วงษ์งาม: บรมครูแห่งแม่เพลง-พ่อเพลงอีแซว
แม่บัวผัน และพ่อไสว เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซวที่มีชื่อเสียงใน อ.ศรีประจันต์ ทั้งสองท่านมีความผูกพัน และมีความชื่นชอบกับเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์ จนได้มีร้องเพลงโอกาสสั่งสมประสบการณ์จากการแสดงมามากมายหลายเวที โดยพ่อไสวเป็นศิลปินเพลงอีแซวคนแรกที่นำตะโพนมาตีประกอบจังหวะ ต่อมาแม่บัวผัน และพ่อไสวได้ตั้งวงเพลงเพื่อฝึกลูกศิษย์ ถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านสู่คนรุ่นหลังมาเป็นเวลาหลายสิบปี มีผลงานการบันทึกเสียง และวิดิทัศน์สาธิตเพลงพื้นบ้านไว้มากมาย และในปี พ.ศ. 2533 แม่บัวผัน และพ่อไสวก็ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)”
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์: ตำนานแม่เพลงอีแซว
มีชื่อจริงว่า นางเกลียว เสร็จกิจ เกิดที่ ต.วงน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ แม่ขวัญจิตมีความสนใจในเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ติดตามเรียนรู้ ฝึกหัดการร้องเพลงอีแซวแบบครูพักลักจำของแม่บัวผัน จันทร์ศรี และพ่อไสวเป็นประจำ ด้วยความอดทน และตั้งใจจริง ตลอดจนปฏิภาณ ไหวพริบของแม่ขวัญจิตในการว่าเพลงอีแซว ทำให้ท่านเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงอีแซวจนได้รับสมญาว่า “ตำนานแม่เพลงอีแซว” และได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)” ในปีพ.ศ. 2539
|